นิดนึงค่ะ

วันพุธที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

อยากเป็นอัยการ

1. ต้องจบปริญญาตรีนิติศาสตร์ จากนั้นก็...
2.สอบเนติได้ คุณสมบัติที่จะใช้สอบก็คือ
1.1 ผู้สอบไล่ได้ปริญญาตรีทางนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยรามคำแหงขึ้นไป
1.2 ผู้ที่ได้ศึกษาวิชานิติศาสตร์ในสถาบันอื่นในหรือนอกประเทศไทย และสอบไล่ได้ตาม
มาตรฐานซึ่งคณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
เทียบให้ไม่ต่ำกว่าวิทยฐานะดังกล่าวใน ข้อ 1.1
ในทางปฏิบัติคณะกรรมการอำนวยการอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
จะเทียบมาตรฐานการศึกษาระดับปริญญาตรีทางนิติศาสตร์จากสถาบันอื่นให้โดยพิจารณาจาก
คณะกรรมการการอุดมศึกษาที่คณะกรรมการอุดมศึกษาได้รับรองมาตรฐานการศึกษาแล้ว
3. ได้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายตามที่ ก.พ. กำหนด ไม่น้อยกว่า 2 ปี (เช่น. ประกอบวิชาชีพเป็น จ่าศาล รองจ่าศาล เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เจ้าพนักงานบังคับคดี พนักงานคุมประพฤติ นายทหารพระธรรมนูญ ทนายความ เป็นต้น.)
4. ต้องมีสัญชาติไทยโดยกำเนิด และอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี รวมทั้งมีคุณสมบัติอื่นๆตามที่ระเบียบข้อบังคับการสอบอัยการ และผู้พิพากษากำหนดด้วยครับ
5. จากนั้นก็เลือกเอาเลยว่าจะเป็นอัยการ หรือผู้พิพากษา ถ้าจะเป็นอัยการก็ต้องไปสอบเป็นผู้ช่วยอัยการ ถ้าอยากเป็นผู้พิพากษาก็ต้องไปสอบเป็นผู้ช่วยผู้พิพากษาก่อน
6. เมื่อสอบได้แล้ว เราจะได้รับการบรรจุเป็นผู้ช่วยอัยการ หรือผู้ช่วยผู้พิพากษา ซึ่งเมื่อทำงานครบ 1 ปี เราก็จะได้เลื่อนเป็นอัยการ หรือผู้พิพากษาแล้วแต่ครับ จบ.

ที่มา http://www.dek-d.com/board/view.php?id=1120424

เสื้อแดงร้องนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีม.112

ผู้สื่อข่าวรายว่ากลุ่นคนเสื้อแดงจำนวนประมาณ 30 คน ในนาม“สหพันธ์สร้างสรรค์ประชาธิปไตยเพื่อสันติภาพ” (DPP) นำโดยนายอนุสรณ์ สมิทธ์กุล เลขาธิการสหพันธ์ฯ เดินทางมาที่หน้าประตู4 ถนนพิษณุโลกทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นจนหมายเปิดผนึกถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร นายกรัฐมนตรี และตั้งเวทีปราศรัยย่อยด้วยรถกระบะ พร้อมป้ายข้อความเนื้อหาเกี่ยวกับการเสียชีวิตของนายอำพล ตั้งนพกุล(อากง) เพื่อเรียกร้องขอคณะรัฐมนตรีออกกฎหมายนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีจากประมวลกฎหมายอาญามาตรามาตรา 112
นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การใช้อำนาจของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา112 เป็นไปอย่างไม่เป็นธรรมและยังมีการริด รอนสิทธิขั้นพื้นฐานในการประกันตัวระหว่างต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม จนกระทั่งนำมาสู่เหตุการณ์อันเศร้าสลดจากการเสียชีวิตของนายอำพล ในราชทัณฑ์สถานด้วยเหตุมาจากการไม่ได้ประกันตัวเพื่อรักษาอาการป่วยจากแพทย์ โดยในวันที่ 2 ธ.ค.2554 ที่ผ่านมาทางสหพันธ์ฯ ได้เดินทางไปยื่นจดหมายเรียกร้องไปยังประธานศาลฎีกา ขอให้ปล่อยตัวหรืออนุญาตผู้ต้องหาจากการต้องคดีที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรามาตรา 112 ทุกคน
ขณะเดียวกันพ.ต.ต เสงี่ยม สำราญรัตน์ ข้าราชการการเมืองประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะอดีตแกนนำกลุ่มนปช. ซึ่งเป็นตัวแทนเข้ารับหนังสือ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการกล่าวหาในทางการเมือง ซึ่งในประเทศเราในต่างปกครองในระบอบประชาธิปไตยเป็นประมุข ด้วยเหตุนี้เองในแต่ล่ะฝ่ายจึงนำมาหาประโยชน์ทางการเมืองในการกล่าวหาซึ่งกันและกัน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และดุลพินิจในเรื่องนี้เองก็อยู่ในกระบวนการของศาล การที่จะอนุญาติประกันตัวนั้นก็ต้องเป็นดุลยพินิจของศาล โดยตนจะนำเรื่องนี้นำเสนอกับผู้รับผิดชอบในการหาแนวทางประสานงานกับฝ่ายบริหารต่อไป


ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/politics/politics/20120522/452967/เสื้อแดงร้องนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีม.112.html

คุก 8 ปี สาวใหญ่อ้างเป็นแอร์การบินไทย ตุ๋นเหยื่อซื้อหุ้นสูญ 29 ล.

       ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาในคดีที่พนักงานอัยการ ฝ่ายคดีอาญาเป็นโจทก์ฟ้อง น.ส.ศิริพร หรืออ้อม ขาวสบาย อายุ 48 ปี เป็นจำเลยในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หลังจำเลยได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรมต่างกัน ด้วยการหลอกลวงผู้อื่นว่าเป็นพนักงานต้อนรับ หรือแอร์โฮสเตสของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และรู้จักบุคคลมีชื่อเสียงในวงการการเมือง วงการธุรกิจ และ วงการบันเทิง สามารถซื้อหุ้นของบริษัท การบินไทย โดยไม่มีทางขาดทุน มีแต่ได้กำไร และขอรับผิดชอบทุกกรณี เพราะหุ้นมีความมั่นคง จนมีผู้หลงเชื่อ 5 ราย โอนเงินเข้าบัญชีจำเลยไปโดยทุจริตหลายครั้งหลายหน รวมเป็นเงินจำนวน 29 ล้านบาท ต่อมาผู้เสียหายได้สอบถามใบหุ้น แต่จำเลยบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน ติดตามจับกุมจำเลยได้เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2555 จำเลยให้การรับสารภาพโดยตลอด ไม่ต่อสู้คดี
        ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยกระทำผิดจริงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 343 วรรคแรก ให้ลงโทษทุกกรรม รวม 4 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี รวม 16 ปี คำรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยไว้ 8 ปี โดยไม่รออาญา เหตุเป็นพฤติการณ์ร้ายแรง พร้อมให้จำเลยคืนเงินจำนวนกว่า 29ล้านบาท แก่ผู้เสียหายด้วย

ที่มา http://www.manager.co.th/Home/ViewNews.aspx?NewsID=9550000063048

เอไอเอส-ดีแทค คุยอนุฯคุ้มครองผู้บริโภคฯ หาข้อยุติปัญหาพรีเพด

เอไอเอส-ดีแทค ส่งตัวแทนหารือ อนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านโทรคมนาคม หวังหาข้อยุติปัญหากำหนดวันใช้บริการพรีเพด ประธานอนุกรรมการ เผยที่ประชุม เสนอสองทางเลือก พร้อมจุดยืนชัดเจน เสนอไม่มีวันหมดอายุ หรือหากบริษัทจะกำหนดวัน ก็ต้องเป็นธรรมไม่เร่งให้ผู้บริโภคต้องเติมเงิน

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันนี้ได้มีการหารือร่วมกับ ตัวแทน บริษัท แอดวานซ์อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส และตัวแทนบริษัท โทเทิ่ลแอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เนื่องจากบริษัท เอไอเอส ต้องการทราบแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบชำระค่าบริการล่วงหน้า หรือ พรีเพด เพื่อแสวงหาความร่วมมือและข้อยุติร่วมกัน โดยมีอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมที่เข้าร่วม ได้แก่ นายศรีสะเกษ สมาน นายศิริศักดิ์ ศุภมนตรี และ นายวิบูลย์ บุญภัทรรักษา

ผลของการหารือที่ประชุมได้เสนอทางออกเป็น 2 ทางเลือก ทางเลือกแรก คือ การไม่กำหนดระยะเวลาการใช้บริการโทรศัพท์แบบเติมเงิน คือ ให้เป็นไปตามประกาศ กทช.เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 11 วิธีการนี้ คือ หากผู้บริโภคยังมีเงินเหลืออยู่ในระบบ ก็มีสิทธิที่จะใช้บริการได้ตลอดโดยไม่ถูกกำหนดวัน ซึ่งไม่กระทบกับผู้บริโภคที่ใช้บริการระบบเติมเงิน แต่จะกระทบกับผู้ที่เก็บเลขหมายไว้กับตัวเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการใช้งาน ซึ่งอาจมีการกำหนดระยะเวลาที่ต้องมีความเคลื่อนไหวของการใช้บริการ เช่น หากไม่มีความเคลื่อนไหวของการใช้บริการภายในกี่เดือน ผู้ให้บริการจะสามารถหักค่าบริการในการรักษาเลขหมายได้ในอัตราที่เป็นธรรมทั้งสองฝ่าย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการถือครองเบอร์ และปัญหาเลขหมายไม่เพียงพอ

“การเคลื่อนไหวหมายถึงไม่ว่าจะโทร.ออกหรือรับสาย ก็ถือว่าเป็นความเคลื่อนไหว เพราะมีการได้สตางค์เกิดขึ้นในวงจรธุรกิจ ก็มาหาข้อตกลงกันอย่างเดียว ว่า สมมติว่า เป็นระยะเวลา 1 ปี ต้นทุนที่จะตัดกับผู้บริโภคหากเบอร์ไม่เคลื่อนไหวเลยเป็นเท่าไหร่ ก็ต้องยินดีให้ตัด โดยมูลค่าการตัดต้องพิจารณาจากต้นทุนที่แชร์ความรับผิดชอบกันระหว่างผู้บริโภคและบริษัทด้วย”

ทางเลือกที่สอง คือ หากจะต้องมีการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ เนื่องจากบริษัทมีต้นทุนเช่น ค่าบริหารเลขหมาย การดูแลลูกค้า การพัฒนาโครงข่าย ก็ต้องยืนอยู่บนหลักการ 3 ข้อ คือ 1.จำนวนวันขั้นต่ำที่กำหนดควรเป็นระยะเวลาที่เป็นเหตุเป็นผลไม่เร่งรัดการใช้บริการ เช่น 3 วัน 5 วัน ดังเช่นปัจจุบัน 2.มีการกำหนดวันเป็นขั้นบันได คือ จำนวนวันผันแปรตามจำนวนเงินที่เติม และ 3.หากมีเงินเหลือในระบบ ต้องคืนให้กับผู้บริโภค แต่ทั้งหมดก็ต้องมาขออนุญาตกสทช.หากไม่ขออนุญาตก็มีวันหมดอายุไม่ได้

“เอไอเอส ชี้แจงปัญหาเรื่องต้นทุน ขณะที่ ดีแทค กลัวปัญหาเรื่องการกระจุกตัวของเลขหมายที่ไม่พอใช้ ดังนั้น หากกำหนดวัน จำนวนวันที่กำหนดต้องเป็นอัตราที่ไม่เร่งรัดให้ผู้บริโภคต้องเร่งเติมเงิน เช่น หาก 100 บาท ได้ 30 วัน 50 บาท ก็จะได้ 15 วัน ลดหลั่นลงไป เพราะปัจจุบันการกำหนด 10 บาท ต้องใช้ภายใน 1 วัน ถือว่าเร่งรัดเกินไป วันที่กำหนดจึงควรมีลักษณะที่เป็นธรรม ซึ่งการหารือในวันนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่บริษัท เอไอเอส เป็นฝ่ายขอหารือกับอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ และเสนอที่จะร่วมกันคิดเพื่อแก้ปัญหานี้ ตั้งแต่การผลักดันปัญหานี้ในยุค สบท.ซึ่งถือเป็นเรื่องดีในการทำงานร่วมกัน เพราะทางบริษัท ทรูมูฟ จำกัด ได้เคยมาร่วมหารือไปแล้ว แต่จะแจ้งผลของการประชุมกับสองบริษัทในวันนี้ไปให้รับทราบด้วย”

ที่มา http://www.manager.co.th/Cyberbiz/ViewNews.aspx?NewsID=9550000060987

กฎหมายจราจรเบื้องต้น

 อันตรายจากยาแก้ไข้หวัด.....หรือซูโดเอฟิดรีน
      ข่าวการจับกุมยาเสพติดเป็นประจำแทบทุกวัน ไม่น่าเชื่อว่ายาแก้ไข้หวัดคัดจมูกที่ขายกันอยู่ทั่วไป และหาซื้อได้ง่ายในร้านขายยาทั่วประเทศ และเป็นที่หมายปองของแก๊งค์ยาเสพติด เพราะมีส่วนผสมของยา     ในตระกูลซูโดเอฟิดรีน (Pseudoephednine) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิต “ไอซ์” ยาเสพติดราคาแพงของเล่นของนักท่องราตรีคนมีเงิน
     นายแพทย์ พิพัฒน์  ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับกุมผู้ต้องหาค้าไอซ์ย่านรามคำแหง พบว่ามีการกว้านซื้อยาแก้หวัด เช่น ชูลิดีน บรอมเฟต แอคติเฟด  สูโดฟรีน เป็นต้น เพื่อนำไปสกัดเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ตัวยาที่ปรากฎตามข่าวตระกูลซูโดเอฟิดรีน (Pseudoephednine) จะเป็นตัวยาที่มีส่วนประกอบสามารถนำไปผลิตยาเสพติดได้ โดยจะมีส่วนผสมใน 3 สูตรคือ สูโดเอฟฟิดรีนกับไตรโพรลิดีน สูโดเอฟฟิดรีนกับคลอเฟนิรามีนและ สูโดเอฟฟิดรีนกับ บลอมเฟนิรามีน เป็นกลุ่มยาที่ลดอาการคัดจมูก น้ำมูก ยาแก้แพ้ ซึ่งโดยปกติแล้วทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จะมีการควบคุมการขายยาแก้หวัด คัดจมูก ที่มีส่วนผสมของ 3 สูตรนี้อยู่แล้ว เพราะทราบดีว่า    ยาสูตรดังกล่าวสามารถนำไปผลิตเป็นยาเสพติดได้ และจะออกประกาศควบคุมการจำหน่ายยาที่มีส่วนผสมทั้ง    3 สูตรให้เข้มงวดมากขึ้น 
     สำหรับความผิดเกี่ยวกับการครอบครอง คนซื้อและคนขายยาแก้ไข้หวัดหากมีจำนวนมากถือเป็นความผิดเพราะตามกฎหมาย สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถซื้อยาในตระกูลซูโดเอฟิดรีน ได้ครั้งละไม่เกิน 6 แผงหรือ 60 เม็ด หากซื้อเกินจะมีความผิดฐานครอบครองและจำหน่ายยาเสพติดประเภท 2 มีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปี ส่วนร้านขายยาไม่เกินเดือนละ 5,000 เม็ดต่อร้านต่อเดือน หากขายเกินกำหนดก็มีความผิดทางกฎหมายเกี่ยวกับพ.ร.บ.ยา
     การแก้ปัญหาอยู่ที่การควบคุมการซื้อขาย จะต้องทำความเข้าใจกับร้านขายยา และบริษัทผู้ผลิต   ยาประเภทนี้  เพราะยากลุ่มนี้การสั่งซื้อต้องสั่งซื้อผ่านคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.เท่านั้น ส่วนผู้ที่นำเข้าจากต่างประเทศก็จะถูกพักใบอนุญาตการนำเข้า ซึ่งเป็นมาตรการหนึ่งที่จะป้องกันไม่ให้มีผู้นำยาไปใช้ในทางที่ผิด
     อย่างไรก็ตามหากใครพบเห็นการซื้อขายยาประเภทนี้ผิดสังเกตสามารถแจ้งไปที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หมายเลข 1556 หรือ สำนักงาน ป.ป.ส. หมายเลข 1386
                  ชิวิตพังพินาศ    หากพลั้งพลาดไปติดยา
ที่มา http://nctc.oncb.go.th/new/index.php?option=com_content&view=article&id=1078:2555-02-13-03-%M-%S&catid=173:-2554&Itemid=229

วันอังคารที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หมิ่นประมาททางอินเตอร์เนท

  มาดูว่าการหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต คืออะไร ก่อนที่จะพิจารณาถึงเรื่องนี้ควรจะพิจารณาก่อนว่า หมิ่นประมาทนั้น มีลักษณะการกระทำอย่างไร หมิ่นประมาทคือ การใส่ความผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดๆ เช่น พูด เขียน พิมพ์ข้อความ หรือแสดงกริยาต่างๆ โดยการใส่ความดังกล่าวนั้น ต้องเป็นการกระทำให้บุคคลที่สามรับทราบ ซึ่งเป็นการกระทำให้ผู้ถูกใส่ความนั้น ได้รับความเสียหาย
          ดังนั้น ผู้กระทำการหมิ่นประมาท จะมีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา กล่าวคือ การหมิ่นประมาทนั้น ผู้กระทำผิดจะมีความหมายทางแพ่ง ฐานละเมิดตามประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 423 ซึ่งมีหลักการสำคัญ คือ ผู้กระทำได้กล่าว หรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความที่ขัดต่อความเป็นจริง เป็นผลให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ต่อชื่อเสียงเกียรติคุณ
          นอกจากนี้การหมิ่นประมาท ยังถูกบัญญัติให้เป็นความผิดหนึ่ง ในประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 326 ซึ่งลักษณะการกระทำคือ ผู้กระทำความผิดได้ใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง การพิจารณาข้อความที่เป็นการหมิ่นประมาทในทางอาญานั้น อาจเป็นความจริง หรือเท็จก็ได้ดังที่เคยมีคำกล่าวว่า "ยิ่งจริงยิ่งผิด" เพราะกฏหมาย มุ่งพิจารณาแต่เพียงว่าถ้ามีการกล่าวถึงบุคคลอื่น ในด้านที่ไม่ดีแล้ว ย่อมจะทำให้สังคมไม่สงบสุข ไม่ว่าข้อความนั้นจะเป็นจริงหรือไม่
          ความรับผิดทางอาญา และทางแพ่งมีข้อแตกต่าง ประการสำคัญทีสุด คือ หากข้อความที่กล่าวเป็นเรื่องเท็จ ผู้กระทำจะมีความผิดทางอาญา และต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง แต่ถ้าข้อความที่กล่าวเป็นจริง ผู้กระทำจะมีความผิดทางอาญา แต่ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายทางแพ่ง
          กรณีความผิดทางอาญา ในการหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ต จะมีความผิดตามมาตรา 326 ที่บัญญัติว่า "ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่ทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมื่น หรือ ถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ"
          หากนำข้อความ หรือภาพที่มีลักษณะหมิ่นประมาท ไปลงไว้ในเว็บไซต์ คนทั่วไปย่อมสามารถเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ อันเป็นลักษณะของการโฆษณาด้วยภาพ หรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎด้วยวิธีใด อย่างหนึ่ง ซึ่งในมาตรา 329 บัญญัติไว้ว่า "ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาท ได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนต์ ภาพ หรือ ตัวอักษรที่ทำให้ปรากฎ ไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท" ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษหนักกว่ามาตรา 326 เพราะการโฆษณาเป็นการทำให้ข้อความหรือภาพที่มีลักษระหมิ่นประมาทกระจายไปสู่ คนจำนวนมากกว่าการหมิ่นประมาท ทั่วๆ ไป
          ความผิดสำเร็จในความผิดฐานหมิ่นประมาททางอินเตอร์เน็ตนั้น จะถือว่าความผิดสำเร็จเมื่อใด เมื่อพิจารณาถ้อยคำที่ว่า "โดยประการที่ทำให้ผู้นั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมื่น หรือถูกเกลียดชัง" ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 326 นั้นไม่ใช่ผลของการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ที่ต้องถือว่าเป็นความผิดสำเร็จแล้ว แต่จะพิจารณาว่าผิดสำเร็จ หรือไม่จากวิญญูชนทั่วไป (บุคคลทั่วไป) ว่าเมื่อได้รับทราบข้อความนั้นแล้ว เห็นว่าน่าจะเกิดความเสียหายแต่ผู้อื่นหรือไม่ ถ้าเห็นว่าน่าจะเสียหาย ผู้กระทำก็จะมีความผิดแล้ว แต่ถ้าบุคคลทั่วไปเห็นว่าไม่น่าจะเสียหายแต่ผู้อื่น ผู้กระทำก็ไม่มีความผิด และต้องได้ข้อเท็จจริงว่า บุคคลที่สามรับทราบข้อความนั้นแล้ว จึงจะถือว่าเป็นความผิดสำเร็จ
          ถ้าบุคคลที่สามยังไม่ได้รับทราบข้อความนั้นเลย ก็เป็นแต่เพียงขั้นพยายามหมิ่นประมาทเท่านั้น คือ ผู้กระทำได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่การกระทำไม่บรรลุผล เช่น นายเอก ส่งอีเมลล์ให้นายโท โดยมีข้อความหมิ่นประมาทนายตรี ถ้านายโทยังไม่เปิดอ่าน ถือว่านายเอกได้กระทำไปตลอดแล้ว แต่ไม่บรรลุผล คือ นายโท ยังไม่ได้รับทราบข้อความนั้น จีงมีความผิดเพียงขั้นพยายามหมิ่นประมาทรับโทษเพียงสองในสาม แต่ถ้านายโทเปิดอ่านอีเมล์ฉบับดังกล่าวแล้ว ถือได้ว่ามีบุคคลที่สามรับทราบข้อความแล้ว จึงเป็นความผิดสำเร็จโทษเต็มตามที่กฎหมายบัญญัติ
          ในกรณีเมื่อได้รับอีเมลล์ที่มีข้อความหมิ่นประมาท และได้ forward ต่อไปให้ผู้อื่น จะมีความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือไม่ ประเด็นนี้เกิดขึ้นได้บ่อยมากในปัจจุบัน เพราะสามารถทำการส่งข้อความหรือภาพ ที่เราได้รับมาไปให้เพือนหรือ คนรู้จักกันได้อีกไม่จำกัดจำนวน ประเด็นนี้สามารถเทียบเคียงได้กับคำพิพากษาศาลฎีกาที 2822/2515 ซึ่งมีข้อเท็จจริงคือ จำเลยแสดงข้อความในจดหมายที่ได้รับจากผู้อื่น โดยรู้อยู่ว่าจดหมายนั่นมีข้อความหมิ่นประมาท ถือได้ว่าจำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาท
          เหตุที่มองว่าการ Forward-mail ไปให้ผู้อื่นถือเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท เพราะผู้กระทำนั้นเมื่อได้รับทราบข้อความ แล้วได้ทำการเผยแพร่ต่อไป เท่ากับเป็นการใส่ความผู้เสียหายต่อไปอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งเป็นการขยายความเสียหายออกไป อีกจึงเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทนั้นเอง แล้วถ้าหาก Forward-mail ต่อไปให้บุคคลอื่นอีกหลายคน จะถือว่าเป็นการหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาที่ต้องรับโทษหนักขึ้น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 นั้น จะต้องพิจารณาจากการกระทำเป็นหลัก ว่าเป็นการโฆษณาหรือไม่ โดยไม่คำนึงถึงจำนวนบุคคลผู้รับข้อความ ว่าจะมีจำนวนมากน้อยเพียงใด



ที่มา http://www.justusers.net/forum/index.php?topic=4922.0

การโอนที่ดินให้บุตรโดยชอบทางกฎหมาย

การโอนที่ดินให้บุตรโดยชอบทางกฎหมาย
          ในกรณีเป็นบ้านพร้อมที่ดินที่เป็นชื่อมารดา,บิดาร่วมกันคุณพ่อและคุณแม่เป็นเจ้าของบ้านพร้อมที่ดิน (หลังโฉนดชื่อพ่อกับแม่) และติดจำนองกับธนาคารอยู่ หลังจากนั้นคุณพ่อเสียชีวิต แม่ผ่อนต่อไม่ไหว ให้ทางผมผ่อนบ้านต่อแทน อยากจะสอบถามว่า ในกรณีดังกล่าว แม่จะทำการโอนบ้านและที่ดินให้ผมได้หรือไม่ โดยการไถ่ถอนจำนองจากธนาคารแล้วมาโอนให้ผม (คุณพ่อที่มีชื่อในโฉนดได้เสียชีวิตแล้ว)
คำแนะนำทนายคลายทุกข์
         สามารถทำได้ครับ  แต่คุณแม่ของคุณต้องร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของคุณพ่อก่อน ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1713
ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
          มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องต่อศาลขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้
          (1) เมื่อเจ้ามรดกตาย ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรมได้สูญหายไป หรืออยู่นอกราชอาณาเขต หรือเป็นผู้เยาว์
          (2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ หรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก
          (3) เมื่อข้อกำหนดพินัยกรรมซึ่งตั้งผู้จัดการมรดกไว้ไม่มีผลบังคับได้ด้วยประการใด ๆ
          การตั้งผู้จัดการมรดกนั้น ถ้ามีข้อกำหนดพินัยกรรมก็ให้ศาลตั้งตามข้อกำหนดพินัยกรรม และถ้าไม่มีข้อกำหนดพินัยกรรม ก็ให้ศาลตั้งเพื่อประโยชน์แก่กองมรดกตามพฤติการณ์และโดยคำนึงถึงเจตนาของเจ้ามรดก แล้วแต่ศาลจะเห็นสมควร

ที่มา http://www.decha.com/main/showTopic.php?id=5284